วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กรุงเทพจมน้ำจริงหรือ นวนิยาย

        

  




     ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติเตือนไม่เกิน 10 ปี กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจมน้ำ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ชี้ชัด ปริมาณน้ำฝนทะลักเท่าตัว แถมน้ำทะเลจ่อท่วมเมืองหลวง ประเมินความเสียหายนับแสนล้าน กทม.ยอมรับห่วง เร่งสร้างแก้มลิงรับน้ำ   ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฝนจะตกเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือน้ำฝนมีปริมาณไม่มากนักก็ตาม ล่าสุดนักวิชาการไทยได้นำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาคำนวณเปรียบเทียบกับข้อมูลน้ำท่วม

ในอดีต  จนพบว่าอีกไม่เกิน 11 ปี หรือในปี 2563 คนกรุงเทพฯ จะเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่หน่วยงานรัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจน เพื่อรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป (โออีซีดี) รายงานผลการวิเคราะห์ว่าในอีกไม่นานน้ำจะท่วม 9 เมืองใหญ่ทั่วเอเชีย ได้แก่ กัลกัตตา มุมไบ ดักกา กวางสี เซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ ไฮฟอง ย่างกุ้ง และกรุงเทพมหานครนั้น  ศูนย์วิจัยจึงริเริ่มโครงการศึกษา "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล" ระหว่างเดือนเมษายน 2551-เมษายน 2552 โดยสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์สภาพเมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง มีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา คลอง ตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ  จากนั้นนำข้อมูลระดับน้ำฝนและระดับน้ำทะเลในอนาคตที่สำรวจโดยไอพีซีซี หรือคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ (ไอพีซีซี) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทำให้พบว่าอีก 11 ปีข้างหน้า หรือปี 2563 จะเกิดปรากฏการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คล้ายกับเหตุการณ์น้ำท่วมหนักปี 2538
 
        "สิ่งที่พบชัดเจนคือปกติพื้นที่กรุงเทพฯ จะรับปริมาณน้ำฝนไหลผ่านได้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วงที่น้ำท่วมหนักในปี 2538 มีปริมาณน้ำฝนไหลผ่านถึง 4,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ในแบบจำลองวิเคราะห์ว่าอีก 11 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ จะมีน้ำฝนไหลผ่านประมาณ 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเช่นกัน  นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝนตกในเขตกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ระดับน้ำทะเลสถานีหลักปากแม่น้ำทั้ง 4 แห่ง คือ แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 เซนติมเตรต่อปี ขณะที่ กรุงเทพฯ ทรุดตัวประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรทุกปี ปัจจัยหลักทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อได้ว่าประมาณปี 2563 ชาวกรุงเทพฯ ต้องรับมือกับภาวะน้ำท่วมหนัก" รศ.ดร.เสรี กล่าว
        ยิ่งไปกว่านั้นยังพบปัจจัยเสริมอีก 4 ข้อ คือ 1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลหายไปปีละประมาณ 10 เมตร ดังนั้นในอนาคต 50 ปีข้างหน้า ชายฝั่งจะถอยไป 500 เมตรส่งผลให้พื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ มีน้ำทะเลท่วมขัง 2.พื้นดินของกรุงเทพฯเป็นดินอ่อน มีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา  คาดว่าอีก 40 ปีข้างหน้าจะทรุดต่ำลงไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร เช่น เขตบางกะปิทรุดตัวแล้ว 100 เซนติเมตร 3.ผลพวงจากภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ใน 40 ปีข้างหน้า 4.พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมตามธรรมชาติถูกมนุษย์สร้างตึกหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ขวางทางน้ำไหลทำให้น้ำท่วมขังไม่มีช่องทางระบายน้ำออกไป
 "ผลวิเคราะห์ชี้ชัดว่าทุกๆ 25 ปีจะเกิดฝนตกหนัก ทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำ เปรียบเทียบจากปีที่ไม่มีน้ำท่วมหนัก ปริมาณน้ำฝนปกติเฉลี่ยเดือนละ 150 มิลลิเมตร แต่ปีที่น้ำท่วมหนักจะมีปริมาณน้ำฝนพุ่งสูงขึ้นไป 2-3 เท่า ประมาณ 400 มิลลิเมตรต่อเดือน เมื่อฝนตกหนักและต่อเนื่องเป็นเดือน ก็ไม่มีใครระบายน้ำได้ทัน  ส่วนแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก็เต็มล้นจนท่วมจังหวัดรอบกรุงเทพฯ มีการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วม 2538 ว่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่หากผลคาดการณ์นี้ถูกต้อง น้ำท่วมในปี 2563 จะสร้างความเสียหายให้กรุงเทพฯ สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท  ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายป้องกันน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่สาทร คลองเตย บางแค บางนา สาเหตุที่เปิดเผยผลการศึกษานี้ออกมาก็เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ และเตรียมพร้อมรับมือภัยน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอีก 11 ปีข้างหน้า" รศ.ดร.เสรี กล่าว  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ วิเคราะห์ถึงระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่าจากเดิมที่เคยออกแบบให้มีระดับความปลอดภัย 1 ใน 100 จากสภาพปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ความปลอดภัยที่ตั้งไว้จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5 เท่านั้นเอง  หมายความว่า ไทยจะต้องเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ทุกๆ 5-10 ปี กล่าวคือเศรษฐกิจเราจะเสียหายประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ในทุกๆ 5-10 ปี   "เมื่อข้อมูลวิเคราะห์ตรงกันว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลประเทศอื่นเตรียมแผนการรับมือน้ำท่วมอย่างจริงจัง มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เช่นที่อังกฤษได้ปรับปรุงประตูกั้นแม่น้ำเทมส์ ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องน้ำทะเลท่วมซ้ำเติม   โดยเนเธอร์แลนด์ทำคันดินปลูกหญ้าทับ ส่วนญี่ปุ่นมีเงินมากก็ทำเป็นกำแพงคอนกรีต สิงคโปร์สร้างคันดินยกระดับให้สูงเพิ่มอีก 1.5 เมตร สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพป้องกันน้ำท่วมระดับประเทศ  แม้จะมี พ...ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แต่ขาดความร่วมมือ ขาดเอกภาพ งบประมาณบานปลาย สูญเสียปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อเป็นงบช่วยเหลือมากกว่าป้องกันผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ระบุ

          ด้าน นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำฝนของกรุงเทพฯ ในปีนี้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 1 เท่า  เนื่องจากฝนตกหนักและต่อเนื่องหลายวัน โดยมีปริมาณน้ำฝน 530 มิลลิเมตร จากเดิมที่เฉลี่ยถึงเดือนพฤษภาคม จะมีเพียง 260 มิลลิเมตรเท่านั้น หากฝนยังตกต่อเนื่องทุกวันเป็นระยะๆ การระบายน้ำจะทำได้น้อย แม้ว่าจะใช้เครื่องสูบน้ำช่วยเต็มที่แล้วก็ตาม  พื้นที่น่าเป็นห่วง คือ เขตหนองบอน ทุ่งครุ บางขุนเทียน และเขตทวีวัฒนา ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสีลม สาทร หรือสุขุมวิทนั้น ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นถนนช่วงสั้นๆ จะมีน้ำกักขังสักพักก็สามารถระบายได้หมด  ส่วนเรื่องการพยากรณ์ว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2563 นั้น นายชาญชัยยอมรับว่ามีการคาดเดาจากหลายสถาบัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามได้เตรียมป้องกันน้ำท่วมตามโครงการพระราชดำริแก้มลิง จากเดิมที่มี 20 แห่งในกรุงเทพฯ ปีนี้จะสร้างเพิ่มอีก 6 แห่ง คือ บึงสะแกงามสามเดือน บึงมะขามเทศ บึงหมู่บ้านสัมมากร บึงหมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น บึงหมู่บ้านเมืองทอง 2/2 บึงหมู่บ้านศุภาลัย 1 รวมถึงการสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น