สิ่งแวดล้อม




นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศของโลกได้สนใจปรากฎการณ์ไฟป่าและเหตุการณ์เผาป่าในภูมิภาคเขตร้อนของโลกมานานแล้ว เพราะเขารู้ว่าการตัดไม้แล้วเผาป่า หรือไฟป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้นปีละมากๆ และก๊าซชนิดนี้ใครๆ ก็รู้ดีว่า เป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกบนโลก นักวิทยาศาสตร์ได้คาดคะเนอีกว่า ผลของการตัดไม้เผาป่านี้ได้ทำให้เกิดเขม่าและเถ้าถ่านที่มีน้ำหนักถึง 1.6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนที่มนุษย์ผลิตได้ในแต่ละปี นอกจากการเผาป่าจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษแล้วป่าที่ถูกเผาจะปลดปล่อยก๊าซพิษอื่น ๆ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน ออกมาสู่บรรยากาศของโลกอีกด้วย
B. Kauffman แห่งมหาวิทยาลัย Oregon State ในสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลหนึ่งที่สนใจสภาพสมดุลของคาร์บอนในบรรยากาศโลก เขาได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเผาป่าโดยชาวไร่ และชาวนาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ Amazon ในทวีปอเมริกาใต้ ในการศึกษาครั้งนั้น Kauffman ได้วัดปริมาณชีวมวลของป่าทั้งก่อนและหลังการเผา จากขนาดของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่และที่ถูกโค่นแล้วเผา และสภาพอุดมสมบูรณ์ของดินทั้งก่อนและหลังเผา
เขาได้รายงานผลการวิจัยของเขาว่า การเผาป่าที่ซ้ำอีกมีบทบาทที่สำคัญมากในการเพิ่มมลภาวะ ซึ่งการเผาป่าซ้ำ ๆ เช่นนี้ นักนิเวศวิทยาในอดีตมิได้เคยคำนึงถึงเลย เพราะนักนิเวศวิทยาเหล่านั้นคิดแต่เพียงว่าพอป่าถูกไฟเผาแล้ว ต้นกำเนิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแหล่งเดียวคือ กระบวการเน่าสลายของชีวมวล
แต่เมื่อ Kauffman ได้ศึกษาไฟป่าที่เกิดในรัฐ Rondonia และในรัฐ Para ของบราซิล 18 ครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2534-2538 เขาได้พบว่า เมื่อเกิดไฟป่าแล้ว ตามปกติชาวนาจะเผาป่าอีกทุก 2-3 ปี เพื่อกำจัดวัชพืชแล x ะหญ้าต่าง ๆ ที่ได้รุกล้ำเข้ามาบริเวณป่าที่ถูกเผา ซึ่งถ้าคิดน้ำหนักของวัชพืชและหญ้าหรือต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นใหม่แล้วถูกเผาในช่วง 10 ปี มันจะมีน้ำหนักรวมที่มากพอ ๆ กับต้นไม้ใหญ่ที่ถูกตัดแล้วเผาในป่าตั้งแต่แรกทีเดียว
นักวิจัยคนอื่น ๆ ยังไม่สามารถปักใจลงไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าการเผาป่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นนี้มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกจริง เพราะเวลาวัชพืชต่าง ๆ เจริญเติบโตในบริเวณป่าที่ถูกเผาไปหมาด ๆ มันได้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศกลับไปด้วยและเขม่าที่ลอยละล่องอยู่ในบรรยากาศ ตามปกติก็มักจะทำให้อากาศเย็นลง ดังนั้น การเผาป่าซ้ำแล้วซ้ำอีกคงจะไม่ใช่คำตอบ สำหรับคำถามที่ว่าอะไรคือสาเหตุของการทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกอย่างสมบูรณ์
จะยังไงก็ตาม ขณะนี้นักวิจัยหลายคนคิดว่า การที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์นั้น เราต้องคอยข้อมูลเพิ่มเติมจากการทดลองชื่อ Large Scale Biosphere Atmosphere Experiment ที่รัฐบาลบราซิลจะดำเนินการในปีหน้า โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท และกินเวลานาน 4 ปี โครงการนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา เคมี นิเวศวิทยาและพฤกศาสตร์จากหลายประเทศร่วมมือกันศึกษาป่าที่สูญเสียคาร์บอนโดยการถูกเผา
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยภาพถ่ายที่ดาวเทียม NCAA-12 ได้ถ่ายบริเวณป่าในลุ่มน้ำ Amazon ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ภาพที่ปรากฎแสดงให้เห็นว่า ภายในเวลาเพียง 40 วัน ชาวบ้านและชาวป่าในบริเวณนั้นได้เผาป่าไป 24,000 ครั้ง ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขในอดีตถึง 28 เปอร์เซ็นนต์
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวเน้นว่าตัวเลขไฟป่าที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นไฟป่าที่ลุกโชติช่วงและรุนแรง แต่สำหรับไฟป่ากองเล็ก ดาวเทียม NCAA-12 มิสามารถตรวจจับได้ ดังนั้นตัวเลข 24,000 จึงเป็นตัวเลขต่ำ เพราะตัวเลขจริง ๆ สูงกว่านี้แน่นอน และจำนวนไฟป่าที่เกิดนี้ก็มิได้บอกปริมาณป่าที่ถูกทำลายตัวเลขชี้บอกแต่เพียงว่า ผู้คนในบราซิลมีแนวโน้มที่จะเผาป่ามากขึ้น ๆ ทุกปี
ก็ในเมื่อตัวเลขเผาป่าปัจจุบัน สูงกว่าตัวเลขเผาป่าในอดีต แต่ในอนาคตตัวเลขของกรณีเผาป่าจะลดลงจนเป็นศูนย์ เพราะป่าที่มีอยู่ถูกเผาหมดแล้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น